สาระสำคัญของการเรียนรู้ที่ได้จากการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสำหรับอาจารย์ใหม่
การจัดการความรู้ด้านการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ
สาระสำคัญของการเรียนรู้ที่ได้จากการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสำหรับอาจารย์ใหม่
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554
ประธานการประชุม: อ.ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ
ผู้เข้าร่วมประชุม
1. อ.ดร.พรฤดี นิธิรัตน์
2. อ.ดร.ปิ่นนเรศ กาศอุดม
3. อ.รสสุคนธ์ เจริญสัตย์สิริ
4. อ.วรัญญา ชลธารกัมปนาท
5. อ.นริชชญา หาดแก้ว
6. อ.อรพรรณ บุญลือ
7. อ.วรรณศิริ ประจันโน
8. อ.โสระยา ซื่อตรง
9. อ.เสาวภา เล็กวงษ์
10. อ.สุนิสา ดีทน
11. อ.สุภา คำมะฤทธิ์
สาระสำคัญของการเรียนรู้จากการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสำหรับอาจารย์ใหม่
หลักสำคัญที่นำมาใช้ คือ “ต้องทำให้ทุกขั้นตอนของการวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก น่าสนใจ และเมื่อลงมือทำวิจัยแล้วผู้วิจัยรู้สึกว่าตนเองมีความมั่นใจในการทำวิจัยมากขึ้น”
จากประสบการณ์ที่ได้ดำเนินโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยให้กับอาจารย์ใหม่ วุฒิปริญญาตรี จำนวน 12 คน ซึ่งได้รับการอบรมเป็นเวลา 6 วัน อาจารย์ใหม่มีการเรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัยดังนี้
1. ในครั้งแรกของการอบรม อาจารย์ใหม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากที่ตนเองจะเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเพราะรู้สึกว่าตนเองมีความรู้ความสามารถในการวิจัยน้อย ทำให้รู้สึกเครียด แต่การจัดให้มีพี่เลี้ยงโดยอาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านการวิจัย ช่วยให้มีความมั่นใจ และดำเนินการวิจัยตามขั้นตอนทีละขั้นตามที่เรียนทฤษฎีและหลักการวิจัยในแต่ละครั้ง ทำให้สามารถทำวิจัยได้ตามลำดับขั้นตอน และมีความมั่นใจในการที่จะทำวิจัยให้สำเร็จได้ตามแผนที่วางไว้
2. อาจารย์ใหม่มีทัศนคติที่ดีมากขึ้นต่อการทำวิจัย โดยเห็นว่าการทำวิจัยครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการพัฒนาตนเองในการทำวิจัย และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อวิทยาลัย นักศึกษา และผู้รับบริการ/ประชาชน ที่เข้าร่วมการวิจัย นอกจากนั้น อาจารย์ใหม่ยังเห็นว่าการทำวิจัยเป็นงานที่ท้าทาย และทำให้อาจารย์ใหม่ได้แสดงศักยภาพ แม้ว่ามีคุณวุฒิปริญญาตรี
3. อาจารย์ใหม่ได้เรียนรู้การจัดการกับความเครียดของตนเอง การจัดสรรเวลา การเรียงลำดับความสำคัญของงานด้านต่างๆ โดยการทำตารางเวลาการปฏิบัติงานรายวัน เพื่อการจัดสรรเวลาในการทำวิจัยไปพร้อมๆ กับงานอื่นๆ
4. การทำวิจัยด้วยตนเองทำให้อาจารย์ใหม่ได้เรียนรู้การค้นหาข้อมูล ทั้งจากการค้นหาทาง Internet และจากแหล่งอื่นๆ เช่น ตัวบุคคลทั้งภายใน และภายนอกวิทยาลัย การทบทวนวรรณกรรมช่วยให้อาจารย์ใหม่ได้เรียนรู้ข้อมูลที่ทันสมัยเพิ่มมากขึ้น
5. การทำวิจัยโดยมีอาจารย์ในภาควิชา และอาจารย์พี่เลี้ยงร่วมทีมวิจัย ช่วยให้มีความมั่นใจในการทำวิจัยมากกว่าการทำโดยลำพัง เพราะ รู้สึกว่ายังมีคนที่จะช่วยเหลือ และให้คำแนะนำได้เมื่อทำวิจัยในขั้นตอนต่างๆ
6. สำหรับการเรียนรู้ของอาจารย์พี่เลี้ยง สรุปได้ดังนี้
1) การสอน/ทบทวนหลักการทำวิจัย ไม่ต้องใช้เวลามาก จัดแบ่งเวลาในช่วงอบรมให้อาจารย์ใหม่ได้มีเวลาเขียนโครงร่างวิจัย สืบค้นข้อมูล และปรึกษาหารืออาจารย์พี่เลี้ยง
2) มีการนำเสนอผลงานเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานและเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มอาจารย์ใหม่ และอาจารย์พี่เลี้ยง
3) การนัดหมายส่งงานและการติดตามเป็นระยะๆ โดยอาจารย์พี่เลี้ยง และผู้รับผิดชอบโครงการ เป็นการกระตุ้นให้อาจารย์ใหม่ดำเนินการวิจัยตามแผนที่วางไว้
4) การให้การช่วยเหลือ สนับสนุน ในด้านต่างๆ เช่น การติดต่อประสานงานกับบุคคลอื่นทั้งภายในและภายนอกวิทยาลัย ช่วยให้อาจารย์ได้เรียนรู้การทำงานที่กว้างขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้น
5) การเปิดโอกาสให้อาจารย์ใหม่ได้บอกเล่า ความรู้สึก/ความคิดเห็น ช่วยสร้างความเข้าใจในเป้าหมายร่วมกันของการพัฒนาอาจารย์ใหม่ด้านการวิจัย รวมทั้งเป็นการช่วยเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำวิจัยให้กับอาจารย์ใหม่ด้วย
6) การมอบหมายให้อาจารย์ใหม่การทำวิจัยโดยเป็นหัวหน้าโครงการ เป็นงานที่สร้างความเครียดให้กับอาจารย์มากพอสมควร แต่เป็นเรื่องที่อาจารย์ใหม่ สามารถทำได้ ถ้าได้รับการสนับสนุนให้คำแนะนำ และกำลังใจจากอาจารย์พี่เลี้ยง
7) อาจารย์ใหม่ได้เรียนรู้ว่าตนเองมีศักยภาพมากกว่าที่ตนเองคิด ดังนั้น การส่งเสริมอาจารย์ใหม่คุณวุฒิปริญญาตรี เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการผลักดันให้อาจารย์ทั้งวิทยาลัยผลิตผลงานวิจัย ในระยะยาวและต่อเนื่อง เพราะเป็นการปลูกฝังทัศนคติใหม่ที่ทำให้อาจารย์เป็นว่าวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก และอาจารย์วุฒิปริญญาตรีก็สามารถทำวิจัย โดยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเองด้วย
8 ) การอบรมวิจัยในครั้งต่อไป (ครั้งที่ 4-6 ของการอบรมในรอบปีนี้) ควรเชิญอาจารย์ (เก่า) ที่ร่วมทีมวิจัยกับอาจารย์ใหม่มาร่วมประชุมด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในส่วนที่มีความซับซ้อน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การอภิปรายผล และการเขียนรายงานวิจัย
9) การช่วยเหลือที่สำคัญนอกเหนือจากการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยแล้ว อาจารย์พี่เลี้ยงและผู้รับผิดชอบโครงการฯ ต้องให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณ และกระบวนการเบิกจ่ายเงินทุนวิจัย ซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบการใช้เงินงบประมาณของราชการด้วย
10) แผนงานที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ต้องวางแผนทำต่อไป คือ การหาแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อให้อาจารย์ผู้วิจัยมีผลงานที่สมบูรณ์ มีความภาคภูมิใจ และวิทยาลัยสามารถนับผลงานการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยได้ตามเกณฑ์ของ สมศ.
มัณฑนา เหมชะญาติ
ผู้บันทึกการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ได้อ่านขั้นตอนกรบวนการวิจัยแล้วมั่นใจว่าสามารถทำได้ค่ะ ถ้าวางแผนงานดี และมีอาจารย์พ่เลี้ยงที่ดี และอีกอย่างต้องขยันด้วยค่ะ
อ่านแล้ว น่าจะเป็นกระบวนการที่สร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยหน้าใหม่ และ เก่า ได้ดี อาจารย์พี่เลี้ยงที่เป็นกัลยาณมิคร ก็เป็นปัจจัยสำคัญนอกจากความมุ่งมั่นอยากเรียนรู้ของผู้ทำวิจัย ขออนุญาตแชร์นะคะ