การเตรียมนักศึกษาชั้นปี 4 สอบสภาฯ ปีการศึกษา 2553 [ประชุมครั้งที่ 2]
รายงานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเตรียมนักศึกษาชั้นปี 4 สอบสภาฯ ปีการศึกษา 2553
นักศึกษารุ่นที่ 43 จำนวนทั้งหมด 279 คน
สรุปประเด็นสำคัญจากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของฝ่ายวิชาการ ฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ และอาจารย์ผู้สอน
การประชุม ครั้งที่ 2 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554
ประธานการประชุม: อ.คนึงนิตย์ พงษ์สิทธิถาวร ประธานการประชุม
ผู้บันทึกการประชุม: อ.มัณฑนา เหมชะญาติ
ผู้เข้าร่วมประชุม
1. อ.มัณฑนา เหมชะญาติ 7. อ.จิตติยา สมบัติบูรณ์
2. อ.รัชสุรีย์ จันทเพชร 8. อ.ขนิษฐา เมฆกมล
3. อ.ธนพร ศนีบุตร 9. อ.ลลนา ประทุม
4. อ.นันทวัน ใจกล้า 10. อ.รสสุคนธ์ เจริญสัตย์ศิริ
5. อ.สุชาดา นิ้มวัฒนากุล 11. อ.นครินทร์ สุวรรณแสง
6. อ.จันทร์เพ็ญ อามพัฒน์
สรุปประเด็นสำคัญจากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ในช่วงของการสอนเสริมเพื่อเตรียมนักศึกษาสอบสภาฯ ระหว่างวันที่ 5 มกราคม ถึง 11 กุมภาพันธ์ 2554 แต่ละรายวิชาได้มีการเตรียมนักศึกษาเพื่อการสอบ ดังนี้
1. วิชาการผดุงครรภ์และวิชาการพยาบาลมารดาและทารก
อาจารย์ของภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ สอนเสริมให้กับนักศึกษา โดยรวม 2 รายวิชานี้เข้าด้วยกัน เพราะเนื้อหามีความเกี่ยวเนื่องกัน ใช้การสอนด้วยการติว concepts หลังทำข้อสอบ สบช. ชุดที่ 2 และหลังการติว concepts ให้นักศึกษาทำข้อสอบทั้ง 2 วิชาอีก 1 ชุด ให้เวลาทำข้อสอบชุดละประมาณ 2 ชั่วโมง เพราะนักศึกษาทำไม่ทันภายในเวลา 75 นาทีที่กำหนด หลังจากทำข้อสอบแล้ว มอบหมายให้นักศึกษาจับคู่กันเพื่อเฉลยและอธิบายคำตอบคู่ละ 1-2 ข้อ โดยให้นักศึกษาอธิบายหน้าชั้นเรียนและอาจารย์เพิ่มเติมหรือแก้ไขถ้านักศึกษาอธิบายไม่ครอบคลุมหรือไม่ถูกต้อง
ปัญหาที่พบ คือ (1) concept บางอย่างที่ใช้ในการปฏิบัติ ไม่ตรงกับทฤษฎี แก้ไขโดยให้ใช้ตามแนวคิดทางทฤษฎีเป็นหลัก และ (2) นักศึกษาเข้าห้องเรียนช้าทำให้ ทำข้อสอบไม่ทัน จึงต้องเพิ่มเวลาในการทำข้อสอบให้กับนักศึกษา ดังนั้น ขอให้ฝ่ายวิชาการเข้มงวดการใช้เวลาในการทำข้อสอบเมื่อจัดการสอบรวบยอดแต่ละครั้ง โดยใช้เวลาเท่ากับเวลาที่สภาการพยาบาลจัดให้ในแต่ละรายวิชา
2. วิชาการพยาบาลเด็ก
อาจารย์ของภาควิชาเด็กฯ จัดให้นักศึกษาทำข้อสอบ โดยให้เวลาข้อละ 1 นาที ตามการสอบจริงที่สภาฯ หลังจากทำข้อสอบแล้ว อาจารย์เฉลยข้อสอบพร้อมทั้งอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม นอกจากนั้นมีการติว concept ตาม Blueprint ของสภาฯ สำหรับช่วง 18-21 น.ให้นักศึกษาทำข้อสอบเพื่อทบทวนความเข้าใจอีกครั้ง โดยให้เวลาข้อละ 1 นาที แล้วเฉลยหลังจากที่นักศึกษาทำข้อสอบเสร็จ
ประเด็นที่อาจารย์ได้เรียนรู้ คือ การติวที่มีประสิทธิภาพ อาจารย์ผู้สอนแต่ละคนต้องสามารถอธิบายเนื้อหาทั้งรายวิชาได้ เพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจเนื้อหาแบบเชื่อมโยงและจำได้ดียิ่งขึ้น
ปัญหาที่พบ คล้ายกับวิชาการผดุงครรภ์และวิชาการพยาบาลมารดาและทารก คือนักศึกษาบางกลุ่มเข้าห้องเรียนช้าอยู่เป็นประจำ
3. วิชาการพยาบาลผู้ใหญ่
ในช่วงแรกของการติวที่ฝ่ายวิชาการจัดเวลาให้วิชาละ 2 วัน วันแรกมีการติว concept โดยอาจารย์หลายคน คนละหนึ่งประเด็นหลักๆ เพื่อให้อาจารย์มีการเตรียมเนื้อหาที่จะสอนได้อย่างลึกซึ้ง และทำข้อสอบในช่วง 18-21 น. แล้วเฉลย สำหรับวันที่สอง ติว concept เพิ่มเติม และทำข้อสอบอีกหนึ่งชุด เฉลยและอธิบายหลังการสอบ ส่กระดาษคำตอบให้งานประมวลผลวิเคราะห์ผลการสอบและข้อสอบ เพื่อการหาจุดอ่อน (เนื้อหาที่ยังทำข้อสอบไม่ได้/ได้น้อย) ของนักศึกษา ซึ่งในรอบนี้พบว่านักศึกษายังทำคะแนนได้น้อยในส่วนของนรีเวช EENT การประเมินและการพยาบาลผู้ป่วยในภาวะวิกฤต
ปัญหาที่พบ คือ (1) ห้องเรียน ของนักเรียนกลุ่ม 1 และ 3 กว้างเกินไป ทำให้อาจารย์สอดส่องพฤติกรรมไม่ทั่วถึง แก้ไขโดยอาจารย์ต้องพยาบาลกระตุ้นความสนใจของนักศึกษาให้ทั่วถึงโดยเฉพาะนักศึกษาที่นั่งหลังห้อง ซึ่งมักเป็นนักศึกษาชายและเข้าห้องเรียนช้า (2) มีนักศึกษาประมาณห้องละ 10% ไม่เข้าเรียนในช่วงเย็น 18-21 น. นอกจากนั้น ยังมีบางคนไม่เข้าติวในช่วงเวลากลางวันด้วย อาจารย์ผู้สอนยังไม่สามารถหาวิธีจัดการหรือช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มนี้ได้ และ(3) จากผลการทดสอบ พบว่านักศึกษาบางคนมีคะแนนต่ำมาก อาจต้องแยกมาสอนเสริมเพิ่มเติม ถ้าผลการสอบของ ม.บูรพายังมีคะแนนต่ำอยู่
4. วิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ
ในการสอนเสริม 2 วัน มีกิจกรรมดังนี้
- วันแรก เริ่มจากให้นักศึกษาทำความเข้าใจขอบเขตเนื้อหาวิชาจาก Blueprint เพราะไม่มีรายวิชานี้ในหลักสูตร
- สอนและแนะนำให้นักศึกษาทำสมาธิ
- ให้นักศึกษาทำข้อสอบ 2 ชุด (ชุดละ 40 ข้อ) หลังจากนั้น อาจารย์ตรวจคำตอบและวิเคราะห์ว่าเนื้อหาส่วนใดบ้างที่นักศึกษายังทำข้อสอบได้น้อย ในช่วงเวลาเดียวกันนี้มอบหมายให้นักศึกษาจับคู่กันค้นหาคำตอบ แล้วเฉลยหน้าชั้นเรียน อาจารย์อธิบายเพิ่มเติม
- วันที่สอง ให้นักศึกษาทำข้อสอบอีกหนึ่งชุด โดยใช้เวลา 40 นาที อาจารย์ตรวจให้คะแนนและเฉลยคำตอบแก่นักศึกษาทั้งชั้นเรียน ผลการทำข้อสอบในวันที่สองนี้ นักศึกษาทำคะแนนได้มากขึ้น
ปัญหาที่พบ คือ นักศึกษาไม่สามารถแยกแยะเนื้อหาผู้สูงอายุจากวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพในหลักสูตรได้ แก้ไขโดยใช้ blueprint แยกขอบเขตของเนื้อหาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ
5. วิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์
- อาจารย์ผู้สอนทำเอกสารประกอบการสอนโดยใช้ blueprint ในการกำหนดขอบเขตของเนื้อหา โดยแจกให้นักศึกษาก่อนฝึก elective เน้นความเข้าใจตาม concept ที่สำคัญก่อนการทำข้อสอบ
- จัดแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มปกติและกลุ่มอ่อน โดยการใช้คะแนนสอบ 60% เป็นเกณฑ์ในการแบ่ง มีนักศึกษากลุ่มอ่อนห้องละประมาณ 20 คน รวม 60 กว่าคน
- หลังทำข้อสอบ สบช. แล้ว จัดกลุ่มใหม่ตามคะแนนที่ได้ โดยใช้เกณฑ์เดิม คือ 60%
- ติว concept โดยอาจารย์ 4 คน ร่วมกันติวตามเนื้อหาที่ถนัด
- ทดสอบความรู้โดยใช้ข้อสอบ 75 ข้อ ในช่วง 18-21 น. ให้ทำข้อสอบแล้วเฉลย
ปัญหาที่พบเหมือนรายวิชาอื่นๆ คือ นักศึกษาบางส่วนเข้าห้องเรียนช้า หรือไม่เข้าในบางช่วงเวลา
6. วิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน
- ให้นักศึกษาทดสอบความรู้โดยใช้ข้อสอบวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน 1 ชุด (60 ข้อ ให้เวลา 60 นาที) เพื่อดูว่านักศึกษายังขาดความเข้าใจเนื้อหาส่วนใดบ้าง
- ทำเอกสารสรุปเนื้อหาในประเด็นที่สำคัญ ใช้ประกอบการสอน
- ให้นักศึกษาทำข้อสอบอีกหนึ่งชุด (60 ข้อ ให้เวลา 60 นาที) เพื่อประเมินความก้าวหน้า หลังจากนั้นอาจารย์เฉลยและอธิบายสู่ concept ชี้ประเด็นในการวิเคราะห์โจทย์ และตัวเลือก
ปัญหาที่พบเหมือนรายวิชาอื่นๆ คือ นักศึกษาบางส่วนเข้าห้องเรียนช้า หรือไม่เข้าในบางช่วงเวลา
7. วิชาการรักษาพยาบาลขั้นต้น
มีเวลาสำหรับการสอนเสริม 1 วัน เนื่องจาก เนื้อหาและข้อสอบของสภาฯ น้อยกว่าวิชาอื่น
- ในช่วงเช้าอธิบายเนื้อในประเด็นที่สำคัญ และให้นักศึกษาทำข้อสอบ
- ช่วงบ่ายติวโดยใช้ข้อสอบ อาจารย์สรุปประเด็นสำคัญ
- ช่วงเย็น 18-21 น. ให้นักศึกษาทำข้อสอบจำนวน 65 ข้อ โดยให้นักศึกษาอ่านและทำพร้อมๆกัน
ประเด็นที่อาจารย์ได้เรียนรู้ คือ อาจารย์ต้องพูดซ้ำๆ หรือเชื่อมโยงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เพื่อย้ำให้นักศึกษากลุ่มอ่อนและปานกลาง ตามทันหรือตอกย้ำให้นักศึกษาจำได้แม่นยำขึ้น
8. วิชากฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาล
มีเวลาสำหรับการสอนเสริมในช่วงนี้ 2 วัน เริ่มต้นด้วยการทำข้อสอบ แล้วให้นักศึกษาเปลี่ยนกันตรวจ ประเมินคะแนนของแต่ละคน หลังจากนั้น ให้นักศึกษาที่ได้คะแนนมากจับคู่กับเพื่อนที่ได้คะแนนน้อย แล้วช่วยกันหาคำอธิบายคำตอบทั้งตัวเลือกและตัวลวง โดยให้นักศึกษาอธิบายแก่เพื่อนหน้าชั้นเรียน อาจารย์อธิบายเสริมเนื้อหา ในช่วงท้ายให้นักศึกษาทำข้อสอบเพื่อประเมินความก้าวหน้าของแต่ละคน
โดยสรุป อาจารย์ผู้สอนแต่ละรายวิชาใช้เทคนิค วิธีการสอนหลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อหาวิชา และความกว้างขวางของขอบเขตสาระสำคัญใน blueprint ในช่วงแรกนี้เป็นการเตรียมสอบแบบทำเหมือนกันหมด เป็นส่วนใหญ่ มีบางรายวิชาแยกนักศึกษากลุ่มเก่งและกลุ่มอ่อน การจัดให้นักศึกษาสอบเป็นช่วงๆ หลังจากจัดกิจกรรมการเตรียมสอบครบทุกรายวิชาแล้ว โดยฝ่ายวิชาการจัดตารางกิจกรรมให้ตามความเหมาะสมของจำนวนข้อสอบที่สภาฯ จัดสอบ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนและหัวหน้าภาควิชามีส่วนร่วมในการจัด การจัดให้นักศึกษาทำข้อสอบในช่วงเวลาการสอนเสริมของแต่ละรายวิชาและจัดสอบเสมือนจริงโดยฝ่ายวิชาการเป็นการประเมินความก้าวหน้าของความพร้อมในการสอบของนักศึกษาเป็นระยะ โดยภาพรวม พบว่านักศึกษามีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากประสบการณ์ของตนเองในการแบ่งนักศึกษากลุ่มอ่อนออกมาติวพิเศษนั้น ยิ่งกลุ่มเล็กมากเท่าใดก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพมากเท่านั้น และ จำนวนนักศึกาาในกลุ่มไม่ควรเกิน 20 คน เนื่องจากจะทำให้อาจารย์กระตุ้นนักศึกษา และประเมินความเข้าใจของนักศึกษาได้ทั่วถึง และนักศึกษาก็มีโอกาสที่จะซักถามได้ทั่วถึง
ประสบการณ์ส่วนตัว การวิเคราะห์ข้อสอบโดยการแยกรายบท หรือรายเนื้อหา ใช้เป็นประโยชน์ในการติวครั้งต่อไปได้มาก เนื่องจากทำให้ทราบว่าเนื้อหาส่วนใดที่นักศึกษาสอบไม่ผ่านมากน้อยเพียงใด… โดยเนื้อหาที่ตกกันมาก อาจารย์จะอธิบายทบทวนสาระสำคัญอีกครั้ง….. และผลจากการวิเคราะห์ข้อสอบทำให้ทราบว่าแต่ละข้อมีนักศึกษาตอบผิดมากน้อยเพียงใด… ในการเฉลยข้อสอบในแต่ละข้อนั้น ข้อที่มีนักศึกษาตกจำนวนมาก อาจารย์จะให้เวลาอธิบายรายละเอียดให้ชัด โดยอธิบายให้ชัดเจนว่าข้อที่นักศึกษาเลือกผิดนั้น เพราะเหตุใดจึงไม่ใช่ข้อถูก…
(หมายเหตุ : อย่าลืมแยกรายบทหรือรายเนื้อหาใน Keyก่อนวิเคราะห์ข้อสอบ… โดยเฉพาะ Key ที่ส่วนกลางทำมาให้จะยังไม่ได้แยกรายบทหรือรายเนื้อหามาให้)