^ Back to Top

คลังความรู้

ความรู้จากวิจัยการล้างไตทางหน้าท้อง

สรุปความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเรื่อง

การจัดการตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง

ในระยะเวลาอย่างน้อย 18 เดือน ของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง

Self management for Preventing Peritonitis at Least 18 Months in Patients Having CAPD

ชวนชม พืชพันธ์ไพศาล, พย.ม. (การพยาบาลผู้สูงอายุ) *

ยศพล เหลืองโสมนภา, ปร.ด. (วิจัยและสถิติทางวิทยาการปัญญา) *

รัชสุรีย์ จันทเพชร, วท.ม. (การพยาบาลอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์) *

ศศิโสภิต แพงศรี, พย.ม. (การพยาบาลผู้ใหญ่) **

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแบบพรรณนา เพื่อศึกษาการจัดการตนเองเพื่อป้องกันการ

ติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องในระยะเวลาอย่างน้อย 18 เดือน ของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และไม่มีการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องในระยะเวลาอย่างน้อย 18 เดือน จำนวน 10 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2559

ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างทุกคนมีการจัดการตนเองที่เหมาะสมในการล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามคำสอนหรือคำแนะนำของบุคลากรทีมสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนล้างไตทางช่องท้อง การล้างไตอย่างถูกต้องตามวิธีการ การไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารหมักดอง และพบว่าการจัดการจากครอบครัวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลในครอบครัวหรือญาติผู้ดูแลในการอำนวยความสะดวก ทั้งการจัด

เตรียมสภาพแวดล้อม ห้องที่ใช้ในการล้างไตทางช่องท้อง และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการล้างไต ให้มีความสะอาด ปราศจากเชื้อ โดยปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดการตนเองที่ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย ไม่เกิดการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องได้เป็นระยะเวลานานกว่า 18 เดือน

จัดการตนเองในการล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องของกลุ่มตัวอย่างจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในการล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง สรุปสาระสำคัญของการจัดการตนเองได้ดังนี้

  1. การดูแลความสะอาดที่ตัวผู้ป่วยและอุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างไตทางช่องท้อง
  2. 1การเตรียมความพร้อมก่อนล้างไต ความสะอาดที่ตัวผู้ป่วย โดยเน้นการล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างไต โดยเน้นการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ผู้ป่วยทุกคนเช็ดมือด้วยผ้าสะอาดที่เตรียมไว้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ผ้าเช็ดมือครั้งละ 1-2 ผืน ต่อการล้างไต 1 รอบ
  3. 2การลงมือปฏิบัติในการล้างไต ในขั้นตอนการลงมือปฏิบัติการล้างไต ผู้ป่วยทุกคนเข้มงวดกับการรักษาความสะอาดในการลงมือกระทำทุกขั้นตอน ตามลำดับก่อน-หลังของกระบวนการล้างไตทางช่องท้อง และที่สำคัญ ผู้ป่วยจะระมัดระวังอย่างมากในการเสียบข้อต่อของสายน้ำยาเข้ากับสายล้างไตที่ช่องท้อง คือ จะต้องไม่มีการเสียบผิดพลาดเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยสำหรับตัวผู้ป่วยเอง โดยมีลำดับขั้นตอนในการล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง ดังนี้

1) การปล่อยน้ำยาเก่าทิ้ง ในขั้นตอนนี้ ผู้ป่วยทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยผู้ป่วยจะนั่งรอให้น้ำยาเก่าออกจนหมด ในขณะที่น้ำยาเก่าออกมานั้น ผู้ป่วยก็จะมีการสังเกตลักษณะของน้ำยาเก่าที่ออกมาด้วยว่ามีลักษณะอย่างไร น้ำยาขุ่นหรือไม่ และมีการบันทึกปริมาณน้ำยาที่ออกมาว่าได้ปริมาณเท่าใดทุกครั้ง เพื่อประเมินการทำงานของไต

2) การปลดข้อต่อเมื่อปล่อยน้ำยาล้างสาย การปลดข้อต่อเป็นอีกขั้นตอนที่มีความสำคัญ เพราะสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องได้ ผู้ป่วยจึงต้องระมัดระวังไม่ให้ข้อต่อเกิดการสัมผัสปนเปื้อนกับสิ่งสกปรก ฝุ่นละออง หรือเชื้อโรค ซึ่งผู้ป่วยบางคนจะให้ความสำคัญกับการระมัดระวังในการปลดข้อต่อของสายยางที่นำน้ำยาเข้าสู่ช่องท้อง เนื่องจากกลัวข้อต่อไม่สะอาด ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องได้

3) การใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้อง การใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดการติดเชื้อได้อีกเช่นกัน โดยก่อนการแขวนถุงน้ำยาที่จะใส่ทางช่องท้องนั้น ผู้ป่วยจะมีการสังเกตวันที่น้ำยาหมดอายุ ความเข้มข้นของน้ำยา และความใสของน้ำยาที่จะใช้ โดยวางถุงน้ำยาเทียบกับลายมือ หากมองเห็นลายมือชัดเจน แสดงว่าน้ำยาใสปกติ

4) ระยะเวลาในการแช่น้ำยาไว้ในช่องท้อง ระยะเวลาในการแช่น้ำยาไว้ในช่องท้องมีความสำคัญต่อการควบคุมการติดเชื้อ เนื่องจากการแช่น้ำยาไว้ในช่องท้องนานเกินไปย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ซึ่งผู้ป่วยทุกคนทราบข้อมูลหรือทราบเหตุผลเกี่ยวกับระยะเวลาในการแช่น้ำยาไว้ในช่องท้อง โดยผู้ป่วยทราบผลเสียของการแช่น้ำยาไว้ในช่องท้องนานเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องได้

5) การอาบน้ำ ผู้ป่วยทุกคนมีเทคนิคในการอาบน้ำของตนเองที่จะระมัดระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ บางคนใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่พันตัวขณะอาบน้ำ บางคนใช้วิธีก้มหลัง แล้วตักน้ำอาบ เพื่อไม่ให้น้ำไหลถูกแผลที่หน้าท้อง โดยผู้ป่วยให้เหตุผลว่าถ้าแผลถูกน้ำจะทำให้แผลมีหนอง ไม่สะอาด ทำให้แผลติดเชื้อและลุกลามเข้าสู่ช่องท้องได้

6) การทำความสะอาดแผล การดูแลและทำความสะอาดแผลเป็นสิ่งจำเป็นและเกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง เพราะเมื่อแผลไม่สะอาดจะเป็นช่องทางนำเชื้อโรคเข้าสู่ช่องท้องได้โดยตรง

2. การรับประทานอาหารที่เหมาะสมของผู้ป่วย ซึ่งการรับประทานอาหารเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องได้ ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องจึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหาร โดยผู้ป่วยมีการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรค ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่บอกว่าได้รับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาล โดยผู้ป่วยทราบว่าต้องรับประทานอาหารที่สะอาด ไม่ใส่สารปนเปื้อนใดๆ ไม่รับประทานอาหารประเภทโปรตีน โดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์ แต่ต้องรับประทานไข่ให้มาก โดยเฉพาะไข่ขาว และควรงดอาหารหมักดอง อาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น หน่อไม้ดอง ปูดอง หอยดอง ผักกาดดอง ขนมจีน ผลไม้ดองทุกชนิด

3. การตระหนักรู้ของผู้ป่วย เป็นความใส่ใจที่สำคัญของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งอยู่ในกระบวนการสะท้อนความสามารถในการดูแลตนเอง ทั้งด้านสมรรถนะทางกาย ความรู้และทัศนคติของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง และผู้ป่วยสามารถบอกได้ว่าปัจจัยส่งเสริมที่อาจทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องมีอะไรบ้าง

4. การสนับสนุนจากครอบครัว โดยบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับคู่สมรส และมีผู้ป่วยบางคนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ บุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ของการล้างไต บางคนมีคู่สมรสคอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้เมื่อต้องลงมือทำการล้างไต เช่น การทำความสะอาดห้องที่ใช้ในการล้างไต ญาติบางคนช่วยเตรียมผ้าสะอาดที่ใช้สำหรับเช็ดมือ โดยการช่วยซักผ้า รีดผ้าเช็ดมือให้ผู้ป่วย

5. ความคาดหวังของผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องต้องการ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าเมื่อมีการล้างไตอย่างถูกวิธี โดยมีการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ในการล้างไตทางช่องท้องอย่างเคร่งครัดแล้ว ผู้ป่วยจะมีความปลอดภัย ไม่เกิดการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง ทั้งยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เหมือนคนปกติ

จากการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าบุคลากรทางสุขภาพควรนำผลการวิจัยที่ได้ไปเป็นข้อมูลตั้งต้นในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่องของคลินิกไตวาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง และนักวิจัยควรพัฒนาแบบสอบถามการจัดการตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุ

ช่องท้องของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง โดยนำผลการวิจัยที่ได้ไปสร้างข้อคำถาม